ลูกก้าวร้าว มีสาเหตุและวิธีการรับมือ

ลูกก้าวร้าว มีพฤติกรรมการกระทำที่มุ่งให้ผู้อื่นเจ็บตัวหรือเกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลัง การใช้คำพูด รวมไปถึงการทำลายข้าวของ สำหรับวัยเด็ก พฤติกรรมเหล่านี้เป็นขั้นหนึ่งของพัฒนาการ ซึ่งต้องได้รับการขัดเกลาให้เด็กแสดงพฤติกรรมอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักควบคุมอารมณ์และไม่ก้าวร้าว

คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านคงจะทราบกันดี ว่าเด็กในวัย 3-5 ขวบ จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง อยากทำนู่นเอง ทำนี่เอง อยากมีส่วนร่วมในการตัดสิน จนบางครั้งถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ให้เค้าทำอะไรในสิ่งที่เค้าต้องการ เค้าอาจจะดูเอาแต่ใจและก้าวร้าวไปซักหน่อย

ลูกก้าวร้าว มีสาเหตุที่พ่อแม่คิดไม่ถึง

ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “การนอน” มีความสำคัญไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่ยังสามารถอดทนได้ อย่างดีก็แค่ร่างกายอ่อนเพลีย ถ้าได้นอนพักก็จะดีขึ้น แต่ถ้าเด็กนอนไม่พอ นอกจากจะมีผลต่อโกรธฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งจะส่งผลให้เด็กไม่เติบโตสมวัยแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมรับมือกับ อารมณ์แปรปรวน ขึ้นๆ ลงๆ หงุดหงิด งอแง ร้องไห้ หากเป็นแบบนี้บ่อยๆ จะส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าวแบบที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้ตัวเลยทีเดียว

สาเหตุที่ลูกนอนไม่พอ

คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งย่ามใจไปเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เด็กนอนไม่หลับ เพราะบางอย่างเด็กอาจแสดงให้เห็น แต่บางอย่างต้องอาศัยความเข้าใจ การดูแลใส่ใจ และการสังเกต ลองมาดูกันว่าสาเหตุจะมาจากอะไรได้บ้าง

  • เล่นเกมส์ ดูโทรทัศน์ก่อนนอน
  • กินคาเฟอีน นอกจากชาและกาแฟแล้ว ในช็อคโกแลตหรือน้ำอัดลมก็มีคาเฟอีน
  • เครียด
  • การนอนกรน ทำให้เด็กต้องตื่นกลางดึกบ่อยๆ ทำให้การนอนไม่ต่อเนื่อง
  • การไอ จากโรคหอบหืด
  • การคัน จากโรคผิวหนัง
  • ภาวะซึมเศร้า
  • วิตกกังวล
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยากระตุ้นประสาทสำหรับรักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD) ยาต้านภาวะซึมเศร้า (Antidepressants) เป็นต้น

กรณีศึกษาพฤติกรรมเด็กในเรื่อง “การนอนไม่พอ” จากกลุ่มตัวอย่าง จากการศึกษาของอาจารย์ดอกเตอร์เอลิซิเบธ เจ.ซัสแมน แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สเตท ซึ่งท่านเป็น 1 คณะผู้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กอายุ 8-13 ปี จำนวน 111 คน พบว่า

  • เด็กที่นอนไม่พอจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีเท่าที่ควร ไม่ค่อยใส่ใจในการเรียน และมีพฤติกรรมแย่ลง
  • เด็กผู้ชายก็มักจะชอบ “แหกกฎกติกา” มากกว่าเพื่อนๆ ที่เข้านอนแต่หัวค่ำ
  • เด็กผู้หญิงก็จะมีพฤติกรรมที่ “ก้าวร้าว” มากกว่าเพื่อนๆ ที่นอนตั้งแต่หัวค่ำ
  • “ฮอร์โมนคอร์ทิซอล (Cortisol)” ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียดเปลี่ยนไป โดยปกติแล้วฮอร์โมนนี้จะสูงขึ้นเมื่อตื่นนอน และจะสูงไปจนช่วงเย็น แล้วจะค่อย ๆ ลดลงช่วงกลางคืน ดังนั้น เด็กที่นอนดึกการหลั่งฮอร์โมนจะเปลี่ยนไป คือ ระดับฮอร์โมนนี้จะต่ำลงในช่วงกลางวัน

เด็กนอนดึกบ่อยๆ นอกจากระดับฮอร์โมนที่ตอบสนองกับความเครียด (Cortisol) เปลี่ยนไปแล้ว ยังมีการพบพฤติกรรมที่ต่อต้านสังคมมากขึ้นและมีอาการซึมเศร้ามากขึ้นอีกด้วย

การปรับพฤติกรรมลูกก้าวร้าว จากสาเหตุนอนไม่พอ

สำหรับเรื่องการช่วยเหลือลูกที่มีปัญหาเรื่องการนอนที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทั้งทางด้านร่างกายหรือจิตใจ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้โดยไม่ต้องพึ่งยา

  • จำกัดพื้นที่บนเตียง ไม่ทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ทำการบ้าน ดูโทรทัศน์ กินขนมบนเตียง เพื่อให้ลูกได้รู้ว่าเตียงนอนมีไว้สำหรับการหลับพักผ่อนจริงๆ
  • ทำบรรยากาศให้เงียบ เวลานอน
  • จัดห้องนอนให้เรียบร้อย สะอาด
  • อากาศถ่ายเทสะดวก
  • จัดตารางการนอนและการตื่นของลูกให้ตรงกันทุกวันไม่เว้นวันหยุด เช่น เด็กวัยอนุบาล อายุ 3-5 ปี ควรนอนให้ได้ 10-13 ชั่วโมง เป็นต้น
  • งดกิจกรรมที่สนุก ตื่นเต้นก่อนเวลานอน 30-60 นาที เช่น งดดูโทรทัศน์ งดเกมส์ หรือแม้แต่การคุยเสียงดัง
  • หากเวลาผ่านไป 10-20 นาทีแล้ว แต่ลูกยังไม่หลับ ให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมอื่นชั่วคราวก่อน เช่น อ่านนิทาน หรือสวดมนต์
  • ไม่ทานช็อคโกแลตหรือน้ำอัดลม เมื่อใกล้เวลานอน
  • หากลูกมีความเครียด แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่นั่งเปิดใจพูดคุยกัน แล้วปล่อยให้เค้าระบายออกมา ให้เค้าได้แสดงความรู้สึก ก่อนที่จะช่วยลูกหาทางแก้ปัญหา
  • คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษาจิตแพทย์ร่วมด้วยก็ได้ เพื่อการช่วยลูกแก้ปัญหาและเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การปรับพฤติกรรมลูกก้าวร้าว จากสาเหตุอื่น ๆ

สำหรับเด็กคนไหนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวในแบบที่ไม่ใช่จากสาเหตุนอน มีวิธีปรับพฤติกรรมดังนี้

  • คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ตอบโต้ลูกด้วยความรุนแรง

การที่คุณพ่อคุณแม่จะหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกในทันทีนั้น ไม่ควรใช้ความรุนแรงกับลูกเด็ดขาด เพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมได้ เช่น ขณะที่ลูกกำลังโมโหและขว้างปาสิ่งของอยู่นั้น ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าไปกอดลูกแบบรวบแขนเอาไว้ แล้วพูดกับลูกด้วยท่าทีที่ปกติ ไม่ควรขึ้นเสียงกับลูก

  • ชี้แนะทางออกอื่นให้ลูก

เช่น เมื่อลูกโดนแกล้งในโรงเรียน แนะนำให้ลูกเดินไปบอกครู ไม่ควรให้ลูกตอบโต้เพื่อนคนนั้นด้วยความรุนแรง

  • ไม่ควรต่อรองกับลูกขณะที่ลูกยังมีพฤติกรรมก้าวร้าว

ถ้าลูกพยายามจะต่อรองกับคุณพ่อคุณแม่ในขณะที่เขายังโมโห หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวอยู่ให้คุณพ่อคุณแม่นิ่งเฉย หรือไม่ก็หาจังหวะอธิบายให้ลูกฟังว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่ตกลงอะไรด้วยทั้งนั้น ถ้าลูกยังไม่นิ่ง หรือไม่สงบสติอารมณ์ก่อน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการฝึกลูกให้ได้เรียนรู้ว่า หนูจะต่อรองกับคุณพ่อคุณแม่ได้ก็ต่อเมื่อหนูมีอารมณ์ที่เย็นลง และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเท่านั้น

  • ไม่ควรเอาชนะลูกด้วยอารมณ์

หากคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจว่าจะเข้าไปห้ามพฤติกรรมที่ก้าวร้าวลูกในขณะที่ลูกยังมีอารมณ์โมโหอยู่ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำเลยก็คือ การเอาอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ไปลงที่ลูก เพราะคิดว่าผู้ใหญ่ย่อมเสียงดังว่า ตัวใหญ่กว่า แบบนี้คิดผิดถนัดเลยค่ะ กลับกัน…สิ่งนี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง แถมลูกยังเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ และอาจเกิดพฤติกรรมที่ต่อต้านได้ “ลูกต่อต้าน แพทย์ระบุ 8 สัญญาณเตือน เกิน 3 ขวบ เสี่ยงโรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน”

  • ไม่ควรลงโทษลูกด้วยความรุนแรง

การลงโทษลูกมีหลายวิธีค่ะที่ไม่ต้องเลย เช่น การใช้ทฤษฎี Time In หรือจะ Time Out ก็ได้ค่ะ Time In กับ Time Out ต่างกันอย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้ค่ะ “การลงโทษลูกแบบ Time Out หากไม่ได้ผล มา Time In กันดีกว่าไหม?”

  • ฝึกให้ลูกรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป

เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ลงโทษลูกด้วยการไม่ต้องดี “ลงโทษลูกโดยไม่ต้องตี รวมวิธีดี ๆ ที่ได้ผล”

  • หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น

เพราะการเปรียบเทียบไม่เคยส่งผลดีต่อใครเลยค่ะ ซึ่งผลที่ได้จากการที่คุณพ่อคุณแม่เปรียบเทียบลูกของตัวเองกับคนอื่นรังแต่จะทำให้ลูกมีแต่ความเสียใจ น้อยใจ สุดท้ายลูกจะเป็นเด็กที่ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง จนไม่กล้าทำ ไม่กล้าเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ และอีก “15 คำหรือประโยคที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก”

จากสาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมา คุณพ่อคุณแม่ลองไปสังเกตดูว่ามีข้อไหนที่เข้าข่ายบ้างหรือไม่ เพราะการจะปรับพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกให้ได้ผลนั้น ต้องหาสาเหตุให้ได้ก่อน เพื่อการแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดและได้ผล

ลูกก้าวร้าว

ลูกก้าวร้าว มีสาเหตุมาจากอะไรและพ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

โดยปกติ เด็กเล็กนั้นรู้สึกหงุดหงิดและโกรธได้ง่าย ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการถูกขัดใจหรือขัดขวางเมื่อกำลังตั้งใจทำบางอย่าง รู้สึกไม่ได้รับความสนใจ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ในบางครั้งก็อาจเป็นเพียงเพราะเด็กรู้สึกเหนื่อย กระหาย หิว และไม่รู้จะอธิบายหรือจัดการกับสิ่งที่ตนเองกำลังรู้สึกอย่างไร จึงเลือกแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่เข้าข่ายก้าวร้าวอย่างการตี กัด หรือแสดงความโกรธออกมา

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้มักค่อยๆ ลดลงเมื่อเด็กมีทักษะทางสังคมและภาษามากขึ้น เพราะเด็กจะเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นๆ ที่เหมาะสมแทนการใช้กำลัง ซึ่งพ่อแม่และคนรอบข้างต้องคอยส่งเสริมพัฒนาการเหล่านี้ และสอนให้รู้ว่าพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดี หากเด็กทำจะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น

ความก้าวร้าวในเด็กอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆ ด้วย ดังนี้

  • การเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจากคนในครอบครัวหรือสังคมรอบข้าง
  • เด็กก้าวร้าวเพื่อเรียกร้องความสนใจ ซึ่งเกิดจากพ่อแม่ คนในครอบครัว หรือครู ให้ความสนใจมากเกินไป หรือให้รางวัลเพื่อให้เด็กหยุดก้าวร้าว ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เด็กใช้พฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นไปเรื่อย ๆ
  • ปัญหาภายในครอบครัว เช่น พ่อแม่หย่าร้าง หรือมีคนในครอบครัวเจ็บป่วยรุนแรง เป็นต้น เพราะอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กได้รับผลกระทบทางจิตใจจนรู้สึกโกรธและไม่รู้จะรับมืออย่างไร
  • เด็กเกิดความรู้สึกกลัวหรือสงสัยจึงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กที่มีภาวะหวาดระแวง เป็นโรคจิตเภท หรือโรคทางจิตชนิดอื่นๆ เช่น ไบโพลาร์ ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
  • มีปัญหาด้านการจัดการอารมณ์ เด็กอาจไม่รู้วิธีรับมือกับความโกรธที่เกิดขึ้น และเลือกที่จะแสดงออกอย่างก้าวร้าว ซึ่งในกรณีที่เด็กไม่สามารถจัดการกับความโกรธอย่างรุนแรงหรืออธิบายไม่ได้ว่าเหตุใดจึงโกรธ ก็อาจแสดงถึงโรคออทิสติกหรือภาวะบกพร่องทางปัญญาได้
  • เด็กสมาธิสั้นหรือเป็นโรคความผิดปกติทางการควบคุมอารมณ์ โดยอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมขาดความสนใจและความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ไม่มีสมาธิ ไขว้เขวง่าย รวมทั้งไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจจนแสดงความก้าวร้าวออกมา

การรับมือกับความก้าวร้าวของเด็ก

เด็กๆ มักไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธได้และระบายออกมาด้วยการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ดังนั้น การฝึกให้ลูกรู้จักควบคุมตนเองและแสดงความรู้สึกหรืออารมณ์อย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ตัวอย่างวิธีรับมือกับความก้าวร้าวของลูกที่พ่อแม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ มีดังนี้

  • ไม่เพิกเฉยหรือละเลยเมื่อเด็กก้าวร้าว พ่อแม่ควรดุลูกทันทีเมื่อแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม หากเด็กใช้กำลังหรือรังแกเด็กคนอื่น ควรพาลูกออกห่างจากเด็กคนอื่น ๆ ทันที เพื่อให้เรียนรู้ว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้อดเล่นกับเพื่อน พร้อมบอกว่าจะกลับไปเล่นอีกได้ต่อเมื่อสัญญาว่าจะไม่ทำร้ายผู้อื่นอีก
  • อย่าใช้ความรุนแรงตอบโต้ การตีลูกกลับ ขึ้นเสียงใส่เพื่อตอบโต้เมื่อลูกตะโกน หรือใช้ถ้อยคำรุนแรงไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่กลับทำให้เด็กเข้าใจว่าการใช้กำลังหรืออารมณ์เมื่อเกิดความไม่พอใจเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งยังอาจทำให้เด็กติดนิสัยก้าวร้าวเมื่อต้องการเรียกร้องความสนใจ พ่อแม่จึงควรรับมือด้วยความใจเย็นและพยายามควบคุมตนเองให้ได้
  • แสดงตัวอย่างวิธีจัดการกับอารมณ์อย่างถูกต้อง การเป็นตัวอย่างที่ดี คือ หัวใจสำคัญของการเลี้ยงดูลูก เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปดังใจ พ่อแม่ไม่ควรใช้อารมณ์หรือความรุนแรงในการจัดการปัญหา เพราะเด็กอาจเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าวได้
  • ตักเตือนอย่างสม่ำเสมอ แสดงให้เด็กรู้ทุกครั้งว่าการก้าวร้าวไม่ใช่พฤติกรรมที่เหมาะสม จนกระทั่งเด็กรับรู้ว่าไม่ควรทำและเกิดความเคยชินจนไม่กล้าทำอีก โดยไม่ควรมีข้อยกเว้นใด ๆ เพราะพ่อแม่บางคนเลือกที่จะดุลูกแค่ที่บ้านและปล่อยผ่านเมื่ออยู่นอกบ้าน ซึ่งอาจทำให้เด็กสับสนและคิดว่าสิ่งที่สอนไม่ใช่เรื่องจริงจัง หรือไม่จำเป็นต้องทำตัวดีตลอดเวลา
  • กำหนดข้อตกลงและบทลงโทษ เช่น ห้ามตี เตะ กัด หรือใช้กำลัง ไม่เช่นนั้นจะงดไม่ให้เล่นเกมหรือจำกัดเวลาเล่นกับเพื่อน ๆ เป็นต้น
  • เปิดใจคุยกับลูก หลังจากเด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อแม่อาจรอสักพักให้เด็กใจเย็นลงก่อนจึงค่อยถามถึงสิ่งที่เด็กไม่พอใจอย่างอ่อนโยนและแสดงถึงความเข้าอกเข้าใจ จากนั้นจึงอธิบายไปว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะรู้สึกหงุดหงิดหรือโกรธ แต่ต้องรู้จักควบคุมตัวเอง การใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นหรือใช้คำพูดไม่ดีไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ควรสอนให้ลูกพูดออกมาตรง ๆ ว่าโกรธหรือไม่พอใจเพราะอะไร และขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
  • สอนให้เด็กรู้จักยอมรับผิด พยายามให้ลูกเรียนรู้ว่าการขอโทษอย่างจริงใจเมื่อทำผิดเป็นสิ่งสำคัญ และสอนว่าการกระทำนั้น ๆ ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้อื่นอย่างไร เช่น เพื่อนจะรู้สึกเศร้าเมื่อถูกแย่งตุ๊กตา รู้สึกกลัวและไม่อยากเล่นด้วยหากถูกเด็กตี เป็นต้น แต่ไม่จำเป็นต้องบังคับมากเกินไปหรือคาดหวังให้ต้องขอโทษทุกครั้งหากเด็กยังไม่โตพอ รวมทั้งสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ เช่น หากทำลายตัวต่อของเพื่อนก็ให้เด็กช่วยเพื่อนต่อใหม่ หากขว้างปาของเล่นก็ต้องไปเก็บขึ้นมาเอง เป็นต้น
  • ชื่นชมเมื่อเด็กประพฤติตัวดี การกล่าวชมเมื่อเด็กรู้จักจัดการกับอารมณ์อย่างที่ควรจะเป็นนั้นสำคัญพอ ๆ กับการตักเตือนเมื่อเด็กแสดงความก้าวร้าว เช่น เด็กรู้จักรอเมื่อถึงตาที่คนอื่นจะได้เล่นบ้าง แบ่งปันของเล่น ผลัดให้คนอื่นเล่นด้วย หรือเมื่อเด็กแสดงอารมณ์ด้วยการสื่อสารออกมาเป็นคำพูดแทนการใช้กำลัง เป็นต้น
  • จำกัดเวลาดูโทรทัศน์หรือวิดีโอออนไลน์ แม้แต่สื่อสำหรับเด็กโดยเฉพาะก็อาจสอดแทรกภาพความรุนแรงอันเป็นเยี่ยงอย่างให้เด็กทำตามได้ นอกจากนี้ งานวิจัยบางส่วนชี้ว่าเด็กที่ดูทีวีหรือวิดีโอในโทรศัพท์มาก ๆ จะก้าวร้าวกว่าเด็กที่ใช้เวลาส่วนนี้น้อยกว่า พ่อแม่จึงไม่ควรให้เด็กดูโทรทัศน์จนกว่าจะอายุ 1.5 ปี และจำกัดเวลาให้ดูไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน เลือกรายการหรือวิดีโอที่มีเนื้อหาเหมาะสม ควรนั่งข้าง ๆ เด็กระหว่างที่ดูและสอนไปด้วยหากคนหรือตัวการ์ตูนในวิดีโอมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และหมั่นชักชวนเด็กให้ไปเล่นข้างนอกแทนการดูทีวี เช่น เล่นซ่อนแอบ โยนบอล แบดมินตัน เป็นต้น โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบควรทำกิจกรรมที่ต้องออกกำลังอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน

ลูกก้าวร้าวก้าวร้าวแค่ไหนถึงควรไปปรึกษาแพทย์ 

ความก้าวร้าวอย่างรุนแรงอาจเป็นสัญญาณของโรคความบกพร่องทางการเรียนรู้หรือความผิดปกติทางอารมณ์ พ่อแม่สามารถปรึกษากุมารแพทย์หากรู้สึกหมดหนทางที่จะรับมือกับความก้าวร้าวของเด็ก หรือหากพบว่าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวในลักษณะต่อไปนี้

  • แสดงความก้าวร้าวอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2-3 สัปดาห์
  • ทำให้เด็กคนอื่นหวาดกลัวหรือไม่อยากเข้าใกล้
  • ใช้กำลังหรือทำร้ายผู้ใหญ่ ทำร้ายตนเอง หรือพูดถึงตัวเองในแง่ลบ
  • ทำให้คนอื่นบาดเจ็บถึงขั้นเลือดตกยางออก
  • พฤติกรรมก้าวร้าวไม่ค่อยดีขึ้นแม้พยายามใช้วิธีต่างๆ แล้ว หรือยิ่งโตยิ่งก้าวร้าวมากขึ้น
  • เด็กก้าวร้าวจนพ่อแม่กังวลว่าจะไปทำร้ายเด็กคนอื่นๆ
  • พฤติกรรมดังกล่าวกระทบการไปโรงเรียนหรือการเข้าสังคมด้วย

เมื่อไปพบแพทย์ กุมารแพทย์จะให้คำแนะนำในการรับมือและทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของลูกอย่างเหมาะสม หากคาดว่าเด็กมีปัญหาที่พ่อแม่ไม่สามารถแก้ไขเองได้ หรือมีปัญหาสุขภาพบางประการ แพทย์อาจขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตและใช้แบบประเมินสุขภาพจิตกับเด็ก โดยอาจเฝ้าดูพฤติกรรมของเด็กที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือเมื่อเล่นกับเด็กคนอื่นๆ จากนั้นจึงวางแนวทางการรักษาที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งการแก้ไขมักให้ผลลัพธ์ที่ดีหากตรวจพบปัญหาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม

ที่มา

https://momandbaby.net/

https://www.pobpad.com/

https://www.pexels.com/th-th/photo/6624327/

https://www.pexels.com/th-th/photo/6624317/

 

ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับเด็กได้ที่  datamicra.com