เยาวราชที่ “สูญเสียตัวตน” กับการเข้ามาของคลื่นทุนจีน

เจ้าของกิจการร้านอาหาร พ่อค้า แม่ค้า ในเยาวราช ตัดพ้อที่กลุ่ม “ทุนจีน” และคนจีนแผ่นดินใหญ่ใช้วีซาท่องเที่ยวเข้ามาประกอบธุรกิจแย่งชิงตลาดกับคนไทย กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ และเกิดขึ้นพร้อมกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ที่เชื่อว่า จะทำให้ปัญหาธุรกิจ “นอมินี” ของชาวจีนตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก

สำหรับ สมชัย กวางทองพานิชย์ วัย 61 ปี พ่อค้าเชือกในสำเพ็ง และนักประวัติศาสตร์ชุมชนย่านเยาวราช บอกกับบีบีซีไทยว่า ปัญหานี้มีมานานเป็น 10 ปีแล้ว แต่ปัญหาเชิงอัตลักษณ์ชุมชนที่หายไป เป็นสิ่งที่น่าวิตกมากกว่า

“มันมีมานานแล้ว แล้ววันหนึ่งคุณก็ตื่นเต้นเรื่องจีนเทา ไม่ต้องจีนเทาหรอก แค่จีนแดงธรรมดา คุณก็สู้ไม่ไหวแล้ว” สมชัย กล่าว

“มันมีเป็นสิบปีแล้วนะ ผมพูดในฐานะผมสอนเรื่องนี้อยู่แล้ว คุณกำลังสู้กับกลุ่มคนที่มีความกระตือรือร้นอย่างล้นเหลือที่จะทำการค้า แล้วมาทั้งระบบ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า คนขายส่ง คนขายปลีก มันเป็นแบบนี้ทั่วโลก หลายประเทศก็เจอปัญหาแบบนี้”

วานนี้ (16 ม.ค.) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ชี้แจงกรณีคนต่างชาติถือวีซานักท่องเที่ยว แต่เข้ามาประกอบธุรกิจร้านอาหารในไทยไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ห้ามคนต่างชาติทำ หากต้องการประกอบธุรกิจขายอาหาร หรือเครื่องดื่มในไทย ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เขายังเตือนคนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว หรือร่วมเอาชื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนจริง

หรือให้การสนับสนุนร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของคนไทย เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจ โดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน

ด้านนายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมธุรกิจการค้า ยอมรับว่า ไทยกำลังเผชิญการกลับมาของธุรกิจนอมินี ซึ่งตรวจสอบได้ยาก เพราะต้องมีคนแจ้งเบาะแสเข้ามา

“ช่วงโควิดอาจจะมองว่านอมินีซบเซาไป เพราะจีนไม่ค่อยได้เข้ามา เพราะเขาปิดประเทศ มันก็จะเงียบ ๆ ไปพักหนึ่ง เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องนอมินีที่มากับจีน ก็จะเริ่มเข้ามา”

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ตั้งแต่ปี 2558-2565 ผลการตรวจสอบนิติบุคคลที่เข้าข่ายความผิดนอมินี พบว่ามีการออกหนังสือให้ผู้ถือหุ้นให้ชี้แจงข้อเท็จจริง 500-600 ราย และดำเนินคดีแล้ว 66 ราย

ส่วนการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มี.ค. 2543- ธ.ค. 2565 มีการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจไปแล้ว 13,915 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาต 6279 ราย หนังสือสนธิสัญญา 2,048 ราย

คนต่างด้าวที่แจ้งเลิกประกอบธุรกิจและถูกเพิกถอนใบอนุญาต 3509 ราย คงอยู่ 10,406 ราย

หากคุณต้องการติดตามข่าวสารอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกสามารถติดตามได้ที่ datamicra.com